การใช้ภูมิปัญญาทองถิ่นในการเรียนการสอนและพัฒนาหลักสูตร
ความเป็นมาของภูมิปัญญาท้องถิ่น
คำว่า”ภูมิปัญญาท้องถิ่น”(local wisdom) หรือ “ภูมิปัญญาชาวบ้าน”(popular wisdom)
หรือ”ภูมิปัญญาไทย”(Thai wisdom) เป็นคำที่รู้จักกันในวงการศึกษามานานพอสมควรแล้ว แต่ความจริงในการกล่าวถึงได้เกิดขึ้นในบางระยะๆและไม่ได้นำมาใช้ในการพัฒนาด้านต่างๆของประเทศได้เต็มที่นัก ในด้านการศึกษาได้มีการตื่นตัวครั้งหนึ่ง เมื่อแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2535-2539)ในหมวดที่ 4 ได้กล่าวถึงแนวทางจัดการศึกษา ในส่วนของเนื้อหาสาระและกระบวนการเรียนการสอน ข้อ 9 ที่ว่า ให้นำความรู้ที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยในศาสตร์สาขาต่างๆรวมทั้งจากแหล่งวิทยากรอื่นๆเช่นภูมิปัญญาท้องถิ่น วัด ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สื่อมวลชน เป็นต้น นำมาพิจารณาประกอบการจัดการเรียนการสอน
จากนั้นภูมิปัญญาก็ยังมิได้รับการหยิบยกให้เห็นความสำคัญมากนัก จนกระทั้งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้มีการกำหนดไว้ในมาตรา 6 ที่ว่าด้วยการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข รวมทั้งส่วนหนึ่งของมาตรา 23 ที่ระบุว่า กระบวนการเรียนรู้ต้องปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องในเรื่องต่างๆรวมทั้งส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรมของชาติ การกีฬาภูมิปัญญาท้องถิ่น
ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและความรู้อันเป็นสากลที่ต้องเรียนรู้ด้วนตนเองอย่างต่อเนื่อง
(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ,2542:5-6 ,13)
สำนักคณะกรรมการการวัฒนธรรมแห่งชาติ(2534:52) ได้กล่าวไว้ว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น(local wisdom) สะสมขึ้นมาจากประสบการณ์ของชีวิต สังคม และในสภาพสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน และถ่ายทอดสืบทอดกันมาเป็นวัฒนธรรม การดำเนินงานด้านวัฒนธรรม จึงต้องใช้ปัญญาค้นหาสิ่งที่มีอยู่แล้ว ฟื้นฟู ประยุกต์ ประดิษฐ์ เสริมสร้างสิ่งใหม่ บนรากฐานสิ่งเก่าที่ค้นพบนั้น นักฟื้นฟู นักประยุกต์ และนักประดิษฐ์คิดค้นทางวัฒนธรรมพื้นบ้านเหล่านี้ มีชื่อเรียกในเวลาต่อมาว่า “ปราชญ์ชาวบ้าน”หรือ “ผู้รู้ชาวบ้าน”และสติปัญญาที่นำมาใช้ในการสร้างสรรค์นี้เรียกว่า “ภูมิปัญญาชาวบ้าน”หรือ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น”
ประเวศ วะสี (2536:21) ได้กล่าวว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น เกิดจากการส่งสมการเรียนรู้มาเป็นระยะเวลายาวนาน มีลักษณะเชื่อมโยงกันไปหมดทุกสาขาวิชาไม่แยกเป็นวิชาแบบเรียนที่เราเรียน แต่เป็นการเชื่อมโยงกันทุกรายวิชาทั้งที่เป็นเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ การศึกษาและวัฒนธรรม จะผสมกลมกลืนเข้าด้วยกัน
ยุพา ทรัพย์อุไรรัตน์ (2537:21) กล่าวว่า ภูมิปัญญาชาวบ้านเกิดจากการสั่งสมความรู้ประสบการณ์ ที่ได้รับถ่านทอดจากบุคคลและสถาบันต่างๆ โดยมีอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมและศาสนา เกี่ยวข้องอยู่ด้วยและมีวัฒนธรรมเป็นพื้นฐานภูมิปัญญา ภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นสิ่งที่มีมานาน มีการปฏิบัติโดยผู้คนในชุมชนนั้น
สรุปได้ว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นเกิดจากการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่มีการสั่งสมความรู้มวลประสบการณ์ต่างๆ ที่มีการสืบทอดจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายโดยมีความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน จากชุมชนหนึ่งสู่ชุมชนหนึ่งจนทำให้สังคมชาวบ้านมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง
ความหมายของถูมิปัญญาท้องถิ่น
ภูมิปัญญาท้องถิ่น (local wisdom) หรือ ภูมิปัญญาชาวบ้าน (popular wisdom) เป็นคำที่รู้จักกันมานานพอสมควร เป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้งหลายแง่มุม ซึ่งมีนักวิชาการได้ให้ความหมายไว้ในแง่มุมต่างกัน ดังนี้
อังกูล สมคะเนย์ (2535:37) กล่าวถึงภูมิปัญญาชาวบ้านว่า หมายถึง มวลความรู้และมวลประสบการณ์ของชาวบ้านที่ใช้ในการดำเนินชีวิตให้เป็นสุข โดยได้รับการถ่ายทอด สั่งสมกันมา ผ่านกระบวนการพัฒนาให้สอดคล้องกับกาลสมัย
รัตนะ บัวสนธิ์ (2535:35) กล่าวว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น หมายถึงกระบวนทัศน์ชองบุคคลที่มีต่อตนเอง ต่อโลกและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระบวนทัศน์ดังกล่าวมีรากฐานจากคำสอนทางศาสนา คติ จารีตประเพณีที่ได้รับการถ่ายทอด สั่งสอนและปฏิบัติสืบเนื่องกันมา ปรับเข้ากับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงแต่ละสมัย ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายเพื่อความสงบสุขของส่วนที่เป็นชุมชน และปัจเจกบุคคล
สำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ(2537:47) กล่าวว่า ภูมิปัญญาชาวบ้าน หมายถึง ความรู้และประสบการณ์ทั้งหลายของชาวบ้านในท้องถิ่น ที่ใช้แก้ปัญหาหรือการดำเนินชีวิต โดยได้รับการถ่ายทอดและกลั่นกรองกันยาวนาน
รุ่ง แก้วแดง (2543:204) ได้กล่าวถึงภูมิปัญญาไทยว่า หมายถึง องค์ความรู้ความสามารถและทักษะของคนไทย อันเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านกระบวนการเลือกสรร เรียนรู้พัฒนาและถ่ายทอดสืบต่อกันมา เพื่อใช้แก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทยให้สมดุลกับสภาพแวดล้อมและเหมาะสมกับยุคสมัย
วันเพ็ญ พวงพันธุ์บุตร (2542:108) ให้ทัศนะเกี่ยวกับภูมิปัญญาไทยว่า หมายถึงองค์ความรู้ทั้งหลายที่มีการสั่งสมและถ่ายทอดสืบต่อกันมาของชาติไทย โดยการคิดค้นปรับเปลี่ยนผสมผสานกับความรู้ใหม่ และพัฒนาให้เหมาะสม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต มีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
สรุปได้ว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชาวบ้าน หมายถึง ความรู้และประสบการณ์ของชาวบ้านที่ใช้ในการดำเนินชีวิตให้เป็นสุข โดยได้รับการถ่ายทอดสั่งสมกันมา ผ่านกระบวนการพัฒนาให้สอดคล้องกับกาลสมัย
ความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น
ภูมิปัญญาท้องถิ่น เกิดจากการสืบสาน สืบทอดประสบการณ์จากรุ่นถึงรุ่น เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สั่งสมกันมาเป็นเวลานาน ถ้าถูกละเลย ขาดการยอมรับ และถูกทำลายลง ก็จะสูญหายไป ไร้ซึ่งภูมิปัญญาของตนเอง ทำให้คนในท้องถิ่นไม่มีศักดิ์ศรี ขาดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน ดังนั้นภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งนึกการศึกษา หน่วยงาน ได้กล่าวถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชาวบ้าน ไว้ดังนี้
ยุพา ทรัพย์อุไรรัตน์ (2537:25-26) กล่าวถึง ความสำคัญของภูมิปัญญาชาวบ้านว่า
ภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นวัฒนธรรมและประเพณี วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม เป็นตัวกำหนดคุณลักษณะของสังคม เป็นสิ่งที่มีจุดหมาย เป็นวิ่งสำคัญ มีความหมายและคุณค่าต่อการดำรงอยู่ร่วมกันที่จะช่วยให้สมาชิกในชุมชนหมู่บ้าน ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ช่วยสร้างความสมดุล ระหว่างคนกับธรรมชาติแวดล้อม ทำให้ผู้คนดำรงตนและปรับเปลี่ยนได้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบอันเกิดจากสังคมภายนอกและเป็นประโยชน์ต่อการทำงานพัฒนาชนบท ของเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆทั้งนี้เพื่อเป็นการกำหนดท่าทีในการทำงานให้กลมกลืนกับชาวบ้านได้มากยิ่งขึ้น
ประกอบ ใจมั่น (2539:84) ได้กล่าวถึงความสำคัญของภูมิปัญญาชาวบ้าน คือ
- ช่วยให้สมาชิกในชุมชน หมู่บ้าน ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
- ช่วยสร้างความสมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติแวดล้อม
- ช่วยให้ผู้คนดำรงตนและปรับเปลี่ยนทันต่อความเปลี่ยนแปลง และผลกระทบอันเกิดจากสังคมภายนอก
- เป็นประโยชน์ต่อการทำงานพัฒนาชนบทของเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆเพื่อที่จะได้กำหนดท่าทีการทำงานให้กลมกลืนกับชาวบ้านมากยิ่งขึ้น
นันทสาร สีสลับ (2542:25) ได้กล่าวถึงความสำคัญของภูมิปัญญาไทย ดังนี้
- ภูมิปัญญาไทยช่วยสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น
- สร้างความภาคภูมิใจและศักดิ์ศรีเกียรติภูมิแก่คนไทย
- สามารถปรับประยุกต์หลักธรรมคำสอนทางศาสนาใช้กับวิถีชีวิตได้อย่างเหมาะสม
- สร้างความสมดุลระหว่างคนในสังคมและธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
- เปลี่ยนแปลงปรับปรุงได้ตามยุคสมัย
รุ่ง แก้วคง (2543:205) กล่าวถึงความสำคัญของภูมิปัญญาไทยว่า ภูมิปัญญาไทยได้ช่วยสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น สร้างศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิแก่คนไทย ทำให้บรรพบุรุษของเราได้ดำรงชีวิตอยู่บนผืนแผ่นดินนี้มาอย่างสงบสุขเป็นเวลายาวนาน แม้ว่าภูมิปัญญาส่วนหนึ่งจะสูญหายไป แต่ยังมีบางส่วนหลงเหลือเป็นมรดกอันล้ำค่าอยู่คู่กับสังคมไทยมาโดยตลอด
จากความสำคัญที่กล่าวมา สรุปได้ว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีความสำคัญ เป็นมรกดที่บรรพบุรุษในอดีตได้สั่งสม สร้างสรรค์ สืบทอดภูมิปัญญามาอย่างต่อเนื่อง สืบสานเรื่องราวอันทรงคุณค่ามากมาย ส่งผลให้คนในชาติเกิดความรัก ความภาคภูมิใจและร่วมแรงร่วมใจสืบสานต่อๆกันมาและต่อไปในอนาคต ภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมีความสำคัญยิ่ง
ลักษณะของภูมิปัญญาท้องถิ่น
ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นเรื่องราวการสืบทอดประสบการณ์จากอดีตถึงปัจจุบันที่มีลักษณะของความสัมพันธ์ภายในท้องถิ่น ที่มีความหลากหลายทางภูมิปัญญาแต่ไม่แตกต่างกันมากนัก ซึ่งมีหลายท่านได้กล่าวถึงลักษณะของภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ ดังนี้
เสรี พงศ์พิศ (2536:145) กล่าวว่า ภูมิปัญญามี 2 ลักษณะ คือ
- มีลักษณะเป็นนามธรรม เป็นโลกทัศน์ ชีวทัศน์ เป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิตเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเกิด แก่ เจ็บตาย คุณค่าและความหมายของทุกสิ่งในชีวิตประจำวัน
- มีลักษณะเป็นรูปธรรม เกี่ยวกับเรื่องเฉพาะด้านต่างๆเช่น การทำมาหากิน การเกษตร หัตถกรรม ศิลปะ ดนตรี และอื่นๆ
ภูมิปัญญาเหล่านี้สะท้อนออกมาใน 3 ลักษณะ ทีสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับโลก สิ่งแวดล้อม สัตว์ พืช ธรรมชาติ ความสัมพันธ์กับคนอื่นๆที่อยู่ร่วมกันในสังคมหรือชุมชน ความสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธ์ สิ่งเหนือธรรมชาติ สิ่งที่ไม่สามารถสัมผัสได้ทั้งหลาย ทั้ง 3 ลักษณะนี้ คือ สามมิติของเรื่องเดียวกัน คือ ชีวิตของชาวบ้าน สะท้อนออกมาถึงภูมิปัญญาในการดำเนินชีวิตอย่างเอกภาพ เหมือนมุมของสมเหลี่ยม ภูมิปัญญาจึงเป็นรากฐานในการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน
สัญญา สัญญาวิวัฒน์(2534:25) ได้กล่าวถึงลักษณะภูมิปัญญาท้องถิ่น ไว้ดังนี้
- ภูมิปัญญา เป็นความรู้เกี่ยวกับเรื่องใดๆหรือหน่วยสังคมใดๆเป็นข้อมูล เป็นเนื้อหาสาระเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ เช่น ความรู้เกี่ยวกับครอบครัว ความรู้เกี่ยวกับมนุษย์ เกี่ยวกับผู้หญิง ผู้ชาย ประเภทครอบครัวของสังคมนั้น
- ภูมิปัญญา เป็นความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องใดๆของสังคมนั้น มีความเชื่อแต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ยืนยันว่าถูกต้อง เช่น เรื่องนรก สวรรค์ ตายแล้วไปไหน
- ภูมิปัญญา คือ ความสามารถหรือแนวทางในการแก้ปัญหา หรือป้องกันปัญหาเกี่ยวกับหน่วยสังคมหนึ่งสังคมใด ตัวอย่างครอบครัว เช่น ความสามารถในกรป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในครอบครัว
- ภูมิปัญญาทางวัตถุ ในหน่วยสังคมใดๆ ตัวอย่าง เช่น เรือนชานบ้านช่อง เครื่องใช้ไม่สอยต่างๆในครอบครัว ทำให้ครอบครัวมีความสะอาด สะดวก สบายตามสภาพ
เป็นต้น
- ภูมิปัญญาด้านพฤติกรรมในหน่วยสังคมใดๆ ตัวอย่างครอบครัว เช่นการกระทำความประพฤติ การปฏิบัติตัวของคนต่างๆในครอบครัวจนทำให้ครอบครัวสามารถดำรงอยู่ได้ก็นับเป็นภูมิปัญญาเช่นเดียวกัน
ฉลาดชาย รมิตานนท์(2536) ได้กล่าวถึงลักษณะภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นมิได้มีนัยเป็นแต่เพียงนามธรรม หากแต่มีความหมายครอบคลุมไปถึงรูปธรรมของการดำรงชีวิต เช่น แบบแผนของการใช้ทรัพยากร ซึ่งแบบแผนดังกล่าวจะต้องกำกับด้วยกฎเกณฑ์คุณธรรม หรืออาจเรียกว่า สติ คือ การรู้จักยั้งคิดว่า การใช้ทรัพยากรในระดับใดจึงจะเป็นการสมควร พร้อมกันนั้นก็ใช้ปัญญาที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแบบแผน หรือวิธีการใช้ทรัพยากรหรือธรรมชาติอย่างรอบคอบ เหมาะสมกับเงื่อนไขทางธรรมชาติและสังคม เพื่อความมั่นคงและยืนยาวในอนาคต จึงอาจแยกภูมิปัญญาท้องถิ่นออกเป็น 2 ระดับ หรือ 2 ประเภทกล่าวคือ ระดับหนึ่ง คือ สิ่งที่จับต้องได้ สัมผัสได้ไม่ยากนัก เช่น การเกษตรพื้นเมือง ส่วนอีกระดับหนึ่ง คือ ด้านที่ดูเหมือนกับเป็นนามธรรม นั้นคืออุดมการณ์หรือหลักยึดในการดำรงชีวิตนั่นเอง
พรชัย กาพันธ์ (2545:5-6) กล่าวว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นสะสมกันมา จากประสบการณ์ของชีวิต สังคมและในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน และถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นวัฒนธรรม วัฒนธรรมชุมชนจึงเป็นทรัพยากรอันมีคุณค่ามหาศาลของสังคมตลอดจนประเทศชาติ ที่ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่และหวงแหน มีลักษณะสำคัญ 4 ประการ คือ
- ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีวัฒนธรรมเป็นฐาน ไม่ใช่วิทยาศาสตร์
- ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีบูรณาการ
- ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีความเชื่อมโยงไปสู่นามธรรมที่ลึกซึ่งสูงส่ง
- ภูมิปัญญาท้องถิ่นเน้นความสำคัญของจริยธรรมมากกว่าวัตถุธรรม
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (2540:1) ได้กล่าวถึง ลักษณะสำคัญของ
ภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ ดังนี้
- เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรู้ ทักษะ ความเชื่อ และพฤติกรรม
- แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง คนกับคน คนกับธรรมชาติแวดล้อม และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ
ลักษณะภูมิปัญญาที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม จะแสดงออกมาในลักษณะภูมิปัญญาในการดำเนินชีวิตขั้นพื้นฐาน ด้านปัจจัยสี่ การบริหารจัดการองค์กร ตลอดทั้งการประกอบอาชีพต่างๆ เป็นต้น
ภูมิปัญญาที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนอื่นในสังคม จะแสดงออกมาในลักษณะจารัต ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะและนันทนาการ ภาษาและวรรณกรรม ตลอดทั้งการสื่อสารต่างๆเป็นต้น
- เป็นองค์รวม หรือกิจกรรมทุกอย่างในวิถีชีวิต
- เป็นเรื่องของการแก้ปัญหา การจัดการ การปรับตัว การเรียนรู้ เพื่อความอยู่รอดของบุคคล ชุมชนและสังคม
- เป็นแกนหลัก หรือกระบวนทัศน์ในการมองชีวิต เป็นพื้นความรู้ในเรื่องต่างๆ
- มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อการปรับสมดุลในพัฒนาการทางสังคมตลอดเวลา
- มีลักษณะเฉพาะหรือมีเอกลักษณ์ในตัวเอง
ถวัลย์ มาศจรัส (2543:37) กล่าวว่า ภูมิปัญญาไทย มีลักษณะเป็นองค์รวม และมีคุณค่าทางวัฒนธรรม เกิดขึ้นในวิถีชีวิตไทย ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นอาจเป็นที่มาขององค์ความรู้ที่งอกงามขึ้นใหม่ที่ช่วยในการเรียนรู้ การแก้ปัญหา การจัดการและการปรับตัวในการดำเนินวิถีชีวิตของคนไทย
จากแนวคิดดังกล่าว สรุปได้ว่า ภูมิปัญญามี 2 ลักษณะคือ
1. เป็นรูปธรรม ได้แก่ วัตถุการกระทำทั้งหลาย เช่น การเกษตร หัตถกรรม ศิลปะ ดนตรี ฯลฯ
2. เป็นนามธรรม คือ ความรู้ ความเชื่อ หรือแนวทางในการแก้ปัญหาและป้องกันปัญหา รวมทั้งการสร้างความสงบสุขให้กับชีวิตมนุษย์
ประเภทของภูมิปัญญาท้องถิ่น
อังกูล สมคะเนย์ (2535:37) ได้จำแนกภูมิปัญญาชาวบ้านออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 เรื่องเกี่ยวกับ คติ ความคิด ความเชื่อ ภาษาและหลักการที่เป็นพื้นฐานขององค์แห่งความรู้ที่เกิดจากการสั่งสมถ่ายทอดกันมา
คติ ความคิด ความเชื่อ ภาษาและหลักการที่เป็นพื้นฐานขององค์ความรู้ที่ปรากฏให้เห็นได้ในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นการประกอบพิธีกรรม การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์และการใช้แรงงานของตนเอง รวมถึงการหาผลผลิตต่างๆที่มีอยู่ในธรรมชาติมาใช้ประโยชน์เพื่อการยังชีพ ประกอบกับความเชื่อทางศาสนา ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย คติ คำคม สุภาษิต คำพังเพย นิทานหรือตำนานพื้นบ้าน คติธรรมคำสอนทางศาสนา ปริศนาคำทายต่างๆ ภาษาถิ่นหรือภาษาพื้นบ้าน
กลุ่มที่ 2 เรื่องของศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและประเพณี
ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและประเพณี จะเป็นตัวชี้ที่สำคัญต่อการแสดงออกถึงภูมิปัญญาชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านต่อการดำเนินชีวิต ซึ่งก็คือผลงานหรือกิจกรรมที่เกิดจากความคิดของชาวบ้านที่แสดงให้เห็นคุณค่าแห่งการดำเนินชีวิต วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ที่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาเฉพาะกลุ่มชน หรือท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งเป็นการแสดงถึงความเจริญงอกงามและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกลุ่มชนหรือท้องถิ่นนั้นๆได้แก่ การละเล่นพื้นบ้าน เพลงพื้นบ้านประเภทต่างๆศิลปะการแสดง เช่น หนังตะลุง มโนราห์ ศิลปะด้านโบราณสถาน โบราณวัตถุของท้องถิ่น ขนบธรรมเนียมประเพณีหรือวัฒนธรรมท้องถิ่น
กลุ่มที่ 3 เรื่องของการประกอบอาชีพในแต่ละท้องถิ่น
ในอดีตวิถีชีวิตของคนไทยมีความเป็นอยู่โดยธรรมชาติ ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ จับสัตว์น้ำโดยใช้เครื่องมือที่ประดิษฐ์เอง ในการประกอบอาชีพนั้นเป็นการทำเพื่อให้มีอยู่มีกินมากกว่าที่จะทำเพื่อความมั่งมี ความร่ำรวย โดยที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยจากภายนอกมาเป็นตัวกำหนดหรืออิทธิพลในการผลิต แต่ปัจจุบันวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปมากซึ่งเป็นผลมาจากการมุ่งเน้นพัฒนาประเทศ เพื่อเปลี่ยนแปลงจากประเทศเกษตรกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ทำให้ระบบการผลิตของชาวบ้านได้รับผลกระทบไปด้วย จึงก่อให้เกิดความล้มเหลวทางเศรษฐกิจในชนบทอย่างรุนแรง ผลจากความล้มเหลวและความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจึงได้มีบุคคลหนึ่งนำไปใช้เป็นบทเรียน เกิดแนวคิดการพึ่งพาตนเองและการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในชนบท จึงได้มีการริเริ่มฟื้นฟูทรัพยากรในท้องถิ่นที่ได้มีการสูญเสียไปให้มีสภาพอุดมสมบูรณ์พร้อมปรับสภาพการดำเนินชีวิตที่เคยถูกครอบงำด้วยระบบธุรกิจการค้า กลับมาสู่อาชีพเกษตรกรรม เพื่อความอยู่รอดโดยอาศัยความสมดุลทางธรรมชาติ กลุ่มบุคคลดังกล่าวยืนหยัดต่อสู้ด้วยความเข้มแข็งกับความล้มเหลว และความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอย่างภาคภูมิด้วยกำลังกาย สติปัญญา สั่งสมประสบการณ์จากการผสมผสานกลมกลืนได้อย่างเหมาะสม สามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง บุคคลเหล่านี้จึงเป็นผู้ที่สมควรได้รับการยกย่องและนำเอาหลักการ ความรู้ แนวคิดและประสบการณ์ไปถ่ายทอดให้กับอนุชนรุ่นต่อไป ได้แก่ การทำเครื่องมือจับสัตว์น้ำ งานจักสานจากไม้ไผ่ งานจักสานจากเตยปาหนัน งานจักสานจากหวาย งานประดิษฐ์สิ่งของจากเปลือกหอยแตก การจัดทำผ้าบาติกและการเขียนลายผ้าบาติก
กลุ่มที่ 4 เรื่องของแนวความคิด หลักปฏิบัติและเทคโนโลยีชาวบ้าน
จากสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้เปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมอุตสาหกรรม ส่งผลให้การดำเนินชีวิตเปลี่ยนไป เพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข จึงได้มีบุคคลนำแนวความรู้และหลักการที่เคยปฏิบัติกันมา นำมาผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มผลผลิตหรือประกอบกิจกรรมในการดำเนินชีวิตในครอบครัวและท้องถิ่น ซึ่งนับว่าบุคคลเหล่านี้ เป็นภูมิปัญญาอีกกลุ่มหนึ่ง ที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาตนเองและช่วยเหลือสังคม ได้แก่ การทำไร่นาสวนผสม ตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ การแปรรูปอาหาร การประดิษฐ์ดอกไม้โดยใช้วัสดุในท้องถิ่น การนำสมุนไพรเพื่อใช้รักษาโรค การถนอมอาหาร
รัตนะ บัวสนธิ์ (2535:57) ได้จำแนกภูมิปัญญาท้องถิ่นออกเป็น 3 ประเภท คือ
- ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการจัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
- ภูมิปัญญาเกี่ยวกับระบบสังคมหรือการจัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์
- ภูมิปัญญาเกี่ยวกับระบบการผลิตหรือการประกอบอาชีพมีลักษณะมุ่งเน้นระบบการผลิตเพื่อพึ่งพาตนเอง
มาลินี สวยค้าข้าว (2538:39) ได้แบ่งประเภทของภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยยึดเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ทั้ง 5 หมวด คือ หมวดขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อและศาสนา หมวดภาษาและวรรณกรรม หมวดศิลปกรรมและโบราณคดี หมวดการละเล่น ดนตรี และการพักผ่อนหย่อยใจ หมวดชีวิตความเป็นอยู่และวิทยาการ
รุ่ง แก้งแดง (2543:206-208) ได้แยกประเภทภูมิปัญญาไทยไว้ 1 สาขา ดังนี้
1. สาขาเกษตรกรรม หมายถึง ความสามารถในการผสมผสานองค์ความรู้ ทักษะ และเทคนิคด้านการเกษตรกับเทคโนโลยี โดยการพัฒนาบนพื้นฐานคุณค่าดั้งเดิม ซึ่งคนสามารถพึ่งพาตนเองในสภาวะการณ์ต่างๆได้
2. สาขาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม หมายถึง การรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการแปรรูปผลผลิต เพื่อชะลอการนำเข้าตลาด เพื่อแก้ปัญหาด้านการบริโภคอย่างปลอดภัยประหยัด และเป็นธรรม
3. สาขาแพทย์แผนไทย หมายถึง ความสามารถในการจัดการป้องกันและรักษาสุขภาพของคนในชุมชน โดยเน้นให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองทางด้านสุขภาพและอนามัยได้
4. สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายถึง ความสามารถเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งการอนุรักษ์ การพัฒนา การใช้ประโยชน์จากคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
5. สาขากองทุนและธุรกิจชุมชน หมายถึง ความสามารถในการบริหารจัดการด้านการสะสมและบริการกองทุน และธุรกิจในชุมชน ทั้งที่เป็นเงินตราและโภคทรัพย์ เพื่อเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชน
6. สาขาสวัสดิการ หมายถึง ความสามารถในการจัดสวัสดิการในการประกันคุณภาพชีวิตของคนให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม
7. สาขาศิลปกรรม หมายถึง ความสามารถในการผลิตผลงานทางด้านศิลปะสาขาต่างๆเช่น จิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม ทัศนศิลป์ คีตศิลป์ เป็นต้น
8. สาขาการจัดการองค์กร หมาถึง ความสามารถในการบริหารจัดการดำเนินงานองค์กรชุมชนต่างๆให้สามารถพัฒนาและบริหารองค์กรของตนเองได้ตามบทบาทหน้าที่ขององค์กร เช่น การจัดการองค์กรของกลุ่มแม่บ้าน เป็นต้น
9. สาชาภาษาและวรรณกรรม มายถึง ความสามารถในการผลิตผลงานเกี่ยวกับภาษาทั้งภาษาถิ่น ภาษาโบราณ ภาษาไทยและการใช้ภาษา ตลอดทั้งด้านวรรณกรรมทุกประเภท
10. สาขาศาสนาและประเพณี หมายถึง ความสามารถในการประยุกต์และปรับใช้หลักธรรม คำสอนทางศาสนา ความเชื่อและประเพณีดั้งเดิมที่มีคุณค่าให้เหมาะสมต่อการประพฤติปฏิบัติให้บังเกิดผลดีต่อบุคคลและสิ่งแวดล้อม เช่น การถ่ายทอดหลักธรรมทางศาสนา การบวชป่า การประยุกต์ประเพณีบุญประทายข้าว เป็นต้น
11. สาขาการศึกษา หมายถึง ความสามารถในการถ่ายทอดการอบรมเลี้ยงดูการบ่มเพาะ การสอนสั่ง การสร้างสื่อ และอุปกรณ์การวัดความสำเร็จ
กล่าวโดยสรุป ลักษณะและประเภทของภูมิปัญญาท้องถิ่นคือ มีลักษณะเป็นรูปธรรมและนามธรรม อันเกิดจากการสั่งสมความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการถ่ายทอดจากบุคคลและสถาบันต่างๆในท้องถิ่น โดยมีวัฒนธรรมเป็นพื้นฐาน จะมีลักษณะจำกัดเฉพาะถิ่น มีความเป็นสากล มุ่งการมีชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติและมีความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับชีวิต
การถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
การที่ชนชาติและเผ่าพันธุ์ต่างๆอยู่รอดมาได้ถึงทุกวันนี้ เพราะคุณค่าอันเป็นพื้นฐานแห่งการดำเนินชีวิต สามารถรักษาสมดุลระหว่างความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสภาพแวดล้อมกับผู้คนในสังคมเดียวกัน และกับสังคมอื่นๆความสมดุลดังกล่าวยังคงอยู่ และถ่ายทอดสืบสานกันมา บางส่วนนั้นอาจหายไป แต่มีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นแทน การถ่ายทอดสืบสานมีลักษณะทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งการถ่ายทอดภูมิปัญญานั้น ปฐม นิคมานนท์(2538:279-281) ได้สรุปไว้ดังนี้
1. การสืบทอดความรู้ภายในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องอาชีพของหมู่บ้านที่แทบทุกครัวเรือนทำกัน อาจเป็นอาชีพรองจากการทำไร่ทำนา เช่น เครื่องปั้นดินเผา จักสาน ทอผ้า ซึ่งสมาชิกของชุมชนได้คลุกคลี คุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กภายใต้สภาพการดำรงชีวิตประจำวัน
2. การสืบทอดภายในครัวเรือน เป็นการสืบทอดความรู้ความชำนาญที่มีลักษณะเฉพาะกล่าวคือ เป็นความสามารถเฉพาะบุคคล หรือเฉพาะครอบครัว เช่น ความสามารถในการรักษาโรค งานช่างศิลป์ ช่างฝีมือ ความรู้ด้านพิธีกรรมต่างๆความรู้เหล่านี้จะถ่ายทอดภายในครอบครัวและเครือญาติ บางอย่างมีการหวงแหน และเป็นความลับในสายตระกูล
3. การฝึกจากผู้รู้ผู้ชำนาญเฉพาะอย่าง เป็นการถ่ายทอดที่ผู้สนใจไปขอรับการถ่ายทอดวิชาการ ผู้รู้อาจเป็นญาติหรือไม่ใช่ญาติ หรืออาจอยู่นอกชุมชนก็ได้ เช่น ช่างโบสถ์ ช่างลายไทย หมอตำแย เป็นต้น
4. การฝึกฝนและค้นคว้าด้วยตนเอง อาชีพและความชำนาญหลายอย่างเกิดขึ้นด้วยคิดค้น ดัดแปลง และพัฒนาขึ้นมาด้วยตนเอง แล้วถ่ายทอดไปสู่ลูกหลาน เช่น การแกะสลักหิน เป็นต้น
5. ความรู้ความชำนาญที่เกิดขึ้นจากความบังเอิญหรือสิ่งลึกลับ เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นโดยตนเองไม่ได้สนใจหรือไม่ได้คาดคิดมาก่อน มีวิญญาณหรืออำนาจลึกลับเข้าสิงมาบอก ทำให้มีความสามารถในการรักษาโรคได้
สามารถ จันทร์สูรย์ (2534:50-51) ได จำแนกการถ่ายทอกภูมิปัญญาชาวบ้านไว้ดังนี้
1. วิธีการถ่ายทอดภูมิปัญญาแก่เด็ก เนื่องจากเด็กเป็นวัยที่เรียนรู้โลกรอบๆตัวเองกิจกรรมการถ่ายทอดจึงเป็นเรื่องง่ายๆไม่ซับซ้อน สนุกสนาน และดึงดูดใจ เช่น การละเล่น การเล่านิทาน การทดลองทำหรือการเข้าร่วมปรากฏการณ์ ตลอดจนการเล่นปริศนาคำทาย
2. วิธีการถ่ายทอดภูมิปัญญาแก่ผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เป็นผู้ที่ถือว่าผ่านประสบการณ์ต่างๆมานานพอสมควรแล้ว และเป็นวัยทำงาน วิธีการถ่ายทอดทำได้หลายรูปแบบ เช่น วิธีบอกเล่าโดยตรง หรือบอกเล่าโดยผ่านพิธีสู่ขวัญ พิธีกรรมทางศาสนา พิธีกรรมทางธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นต่างๆดังจะเห็นได้โดยทั่วไปในพิธีแต่งงานของท้องถิ่นต่างๆจะมีขั้นตอนผู้ใหญ่สอนคู่บ่าวสาววิธีการถ่ายทอดในรูปแบบการบันเทิง เช่น การสอดแทรกในคำร้องของบันเทิง
ถ้าจะแบ่งลักษณะการถ่ายทอดภูมิปัญญาในอดีตตามรูปแบบใหญ่ๆอาจแบ่งได้ 2 รูปแบบ คือ แบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษร กับแบบเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งในอดีตส่วนใหญ่ได้จารึกหรือเขียนไว้ในใบลานหรือสมุดข่อย ที่ชาวบ้านภาคใต้เรียกว่า บุดดำ บุดขาว ส่วนในปัจจุบัน มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชาวบ้านผ่านสื่อมวลชนทุกสาขา เช่น หนังสือ สิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์และอื่นๆ
สรุปการถ่ายทอดภูมิปัญญา คือ การส่งทอดความรู้ ความเข้าใจจากบุคคลหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นแบบมีลายลักษณ์อักษร และไม่มีลายลักษณ์อักษร โดยมีองค์ประกอบในการถ่ายทอดคือ
- องค์มติ (concepts) ได้แก่ ความเชื่อ ความคิดความเข้าใจ อุดมการณ์ต่างๆ
- องค์พิธีการ(usages) ได้แก่ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ซึ่งแสดงออกมาในรูปพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีแต่งงาน พิธีการตั้งศพ การแต่งกาย เป็นต้น
- องค์วัตถุ (instrumentary and symbolic objects) ไดแก่ สิ่งประดิษฐ์ที่มีรูปร่างสามารถจับต้องได้ เช่น ผลผลิตทางศิลปกรรม งานฝีมือ และองค์วัตถุที่ไม่มีรูปร่าง แต่เป็นเครื่องแสดงสัญลักษณ์ ความหมายต่างๆเช่น ภาษา เป็นต้น
แนวคิดและหลักการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาหลักสูตร
รัตนะ บัวสนธ์ (2535:7) ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ 2 ลักษณะ คือ
- ครูเป็นผู้ดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของปราชญ์ท้องถิ่น โดยใช้หลักสูตรท้องถิ่นที่ได้รับการพัฒนาหลักสูตรแล้ว
- ปราชญ์ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนเอง
ปราชญ์ท้องถิ่น คือบุคคลในชุมชนท้องถิ่นหนึ่งๆที่เป็นผู้รู้ ผู้นำทางความคิดและการปฏิบัติในด้านต่างๆที่เกี่ยวกับภูมิปัญญา ซึ่งจะได้รับการเรียนขานว่า “ปราชญ์ท้องถิ่น”หรือ “ปราชญ์ชาวบ้าน” (รัตนะ,2535:10)
เสรี พงศ์พิศ (2536:30-32) ได้เสนอแนวทางการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าสู่ระบบการศึกษาของชาติ ดังนี้
1. รัฐบาลประกาศเป็นนโยบายให้ระบบการศึกษาทั้งหมด ศึกษา ค้นคว้า เรียนรู้และ ทะนุบำรุงภูมิปัญญาท้องถิ่น
2. ส่งเสริมให้มีการพิมพ์หนังสือและสื่อรูป
3. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ระบบการศึกษาทุกระดับทำการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น
4. ให้มีการสร้างตำราท้องถิ่น ควรเปิดโอกาสให้ครูที่อยู่ในท้องถิ่นสร้างตำราจากความรู้ท้องถิ่นและใช้ท้องถิ่นของตน เป็นการเปิดศักยภาพของครูในท้องถิ่น ทำให้การศึกษาสอดคล้องกับท้องถิ่นมากขึ้นและทำให้ชาติมีพลังความรู้จากของจริงขึ้นทั่วประเทศ
5. ปรับโรงเรียนประถมศึกษาที่อยู่ในชุมชนโดยทำหน้าที่ 3 อย่าง คือ 1) ศึกษาให้เข้าใจชุมชน 2) เป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารเพื่อพัฒนาชุมชนและ 3) ให้ศึกษาทุกรูปแบบเพื่อชุมชนและดึงทรัพยากรจากชุมชน จากหน่วยงานราชการอื่นๆจากภาคธุรกิจ และจากองค์กรพัฒนาเอกชน เข้ามาใช้เพื่อพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ทั้งประเทศ
6. ปรับระบบการศึกษาทั่วไป รวมทั้งในมหาวิทยาลัย เพื่อให้เป็นการศึกษาที่สร้างรากฐานและความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง โดยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างมีบูรณาการ โดยเรียนจากประสบการณ์ความเป็นจริงในสังคมไทย
7. รัฐบาลควรจัดงบประมาณอุดหนุนทั่วไปให้หน่วยงานได้ตัดสินใจการใช้เอง และรัฐประเมินผลงานและตรวจสอบความถูกต้อง
8. ส่งเสริมกลไกการทำงานอย่างไม่เป็นทางการ และสนับสนุนองค์กรพัฒนาเอกชนคือผู้ปฏิบัติงานต่างสังกัดรวมตัวกันในรูปกลุ่มหรือชมรม หรือรูปอื่นใดที่ไม่เป็นทางการ มีความอิสระ คล่องตัว มีความต่อเนื่อง และมีพลังมากกว่า
9. ภาคธุรกิจควรใช้ทุนทรัพย์สนับสนุนองค์กรพัฒนาเอกชน หรือจัดตั้งมูลนิธิ หรือสถาบันในรูปเอกชนเพื่อส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าให้มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าสู่ระบบการศึกษาไทย
ศิริพงษ์ นวลแก้ว (2540:73) ได้เสนอแนวคิดและแนวทางการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนประถมศึกษาไว้หลายแนว ได้แก่ แนวคิดที่ควรคัดเลือกกิจกรรมหรือเนื้อหาสาระของภูมิปัญญาชาวบ้านที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นและผู้เรียน ไปจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและการพัฒนาหลักสูตร แนวคิดที่ควรเชิญปราชญ์ชาวบ้านหรือเจ้าของภูมิปัญญาในด้านต่างๆเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน แนวคิดที่โรงเรียนควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมชุมนุม โดยนำนักเรียน คณะครู เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของท้องถิ่น การนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ในการเรียนการสอน ควรดำเนินการใน 3 ลักษณะ คือ ควรศึกษาและวิเคราะห์หลักสูตร ควรกำหนดแผนปฏิบัติงานของโรงเรียน และแนวคิดสุดท้าย คือ โรงเรียนควรติดต่อประสานงาน เพื่อขอสนับสนุนจากหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องพยายามปรับปรุงหลักสูตรให้สามารถนำภูมิปัญญาชาวบ้านเข้ามาใช้ พร้อมจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ติดตามสนับสนุนการดำเนินงานและประเมินผลการปฏิบัติงานควบคู่กับการจัดทำเอกสารเผยแพร่และยกย่องเชิดชูเกียรติเจ้าของภูมิปัญญาชาวบ้านด้วย
เอกวิทย์ ณ ถลาง (2540:46-48) ได้กล่าวว่า ธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ต้องมีการพัฒนาการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา โดยมีกระบวนการหรือแนวทาง ดังนี้
1. การเรียนรู้ด้วยการลองผิดลองถูก ทำให้มนุษย์ต้องใช้ปัญญาขบคิดแก้ปัญหา ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
2. เรียนรู้ด้วยการลงมือกระทำ ในสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่มีอยู่จริง การเรียนและสะสมประสบการณ์จริง ปฏิบัติจริงที่ส่งต่อถึงชนรุ่นต่อๆไปในแบบค่อยเป็นค่อยไป จนกลายเป็นแบบธรรมเนียมหรือวิถีปฏิบัติ
3. การถ่ายทอดความรู้ การเรียนรู้จากการทำจริง พัฒนาส่งต่อแด่รุ่นหลังด้วยการสาธิตการสั่งสอนด้วยการบอกเล่า การสร้างองค์ความรู้ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
4. การเรียนรู้โดยพิธีกรรม เป็นการตอกย้ำ ความเชื่อ กรอบศีลธรรมจรรยาของกลุ่มชน แนวปฏิบัติและความคาดหวัง
5. การเรียนรู้โดยผ่านด้านศาสนา หลักธรรมคำสอน ศีลและวัตรปฏิบัติ พิธีกรรม กิจกรรมทางสังคมที่มีวัดเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ที่มีส่วนยอกย้ำภูมิปัญญาที่เป็นอุดมการณ์แห่งชีวิต
6. การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกลุ่มคนที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลายกว้างขวาง การผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นตลอกเวลาในสังคมไทย
7. ครูพักลักจำ เป็นกระบวนการเรียนรู้ในทำนองแอบเรียน แอบเอาอย่าง แอบลองทำดู เป็นการเฝ้าดูอย่างเงียบๆแต่เป็นแนวทางแสวงหาความรู้ที่มีประสิทธิภาพแนวทางหนึ่ง
รุ่ง แก้วแดง (2543:230-232) ได้กล่าวถึงแนวทางการนำภูมิปัญญาไทยกลับสู่ระบบการศึกษาไทยไว้ว่า ภูมิปัญญาไทยมีความสำคัญสำหรับสังคมไทย จำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนานำไปใช้ และถ่ายทอดกันต่อไป เพื่อมิให้สูญหายไปจากวิถีชีวิตของคนไทย กระบวนการที่จะทำให้ภูมิปัญญาไทยฟื้นคืนชีพกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งก็คือ กระบวนการศึกษา ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องช่วยกันคิดก็คือ ต้องนำภูมิปัญญากลับสู่ระบบการศึกษาไทย โดยใช้วิธีการสอนที่มีลักษณะเหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบันหลายอย่าง เช่น การสอนทอผ้า การสอนรำ การสอนดนตรี ซึ่งลักษณะพิเศษสอดคล้องกับหลักการสอนแบบใหม่คือ เป็นการสอนแบบตัวต่อตัว หรือเป็นรายคน เป็นการสอนด้วยความรัก เป็นการสอนโดยการปฏิบัติและเป็นการสอนจากของจริง
เอกสารอ้างอิง
ฉลาดชาย รมิตานนท์. 2536. “ความหลากหลายทางชีวภาพ:ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการพัฒนา”.ใน วิวัฒน์ คติธรรมนิตย์ (บรรณาธิการ). สิทธิชุมชนการกระจายอำนาจจัดการทรัพยากร. กรุงเทพมหานคร: สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
ถวัลย์ มาศจรัส. 2543. สำรวย มีสมชัย ครูภูมิปัญญาไทย เพชรแท้ของแผนดิน. กรุงเทพมหานคร: บริษัทต้นอ้อ 1999 จำกัด.
นันทสาร สีสลับ. 2542. “ภูมิปัญญาไทย” . สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 23.
(พิมพ์ครั้งที่ 2). (2542):11-29.
ประกอบ ใจมั่น. 2539. การศึกษาสภาพและความต้องการเกี่ยวกับการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการ เรียนการสอนในโรงเรียนโครงการขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง . กรุงเทพมหานคร: วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ประเวศ วะสี. 2536. “การศึกษาของชาติ กับภูมิปัญญาท้องถิ่น”. น.17-19. ใน เสรี
พงศ์พิศ. (บรรณาธิการ). 2536. ภูมิปัญญาชาวบ้านกับการพัฒนาชนบท.
กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์พริ้นต้งกรุ๊ป.
พรชัย กาพันธ์. 2545. “กู้วิกฤติการศึกษาด้วยภูมิปัญญาไทย”. วารสารวิชาการ.
7 (กรกฎาคม 2545):
มาลินี สวยค้าข้าว. 2538. การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการเรียนการสอนสังคมศึกษาในโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา 5. กรุงเทพมหานคร: วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ยุพา ทรัพย์อุไรรัตน์. 2537. การใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการศึกษานอกระบบโรงเรียนภาคตะวันออก. กรุงเทพมหานคร: วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
รัตนะ บัวสนธิ์. 2535. การศึกษาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนเพื่อการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น: กรณีศึกษาชุมชนแห่งหนึ่งในเขตภาคกลางตอนล่าง.
กรุงเทพมหานคร: วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร.
ราชกิจจานุเบกษา. 2542. 116 ตอนที่ 7 ก, น. 37.
รุ่ง แก้วแดง. 2543. ปฏิบัติการศึกษาไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน.
วันเพ็ญ พวงพันธ์บุตร. 2542. พื้นฐานวัฒนธรรมไทย. ลพบุรี: สถาบันราชเทพสตรี.
ศิริพงษ์ นวลแก้ว. 2540. การนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ในการพัฒนาหลักสูตรระดับท้องถิ่นของโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพมหานคร: วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยศิลปากร.
สัญญา สัญญาวิวัฒน์. 2534. ภูมิปัญญาไทย. กรุงเทพมหานคร: สถาบันไทยศึกษา.
สามารถ จันทร์สูรย์. 2534. ภูมิปัญญาชาวบ้านกับการพัฒนาชนบท. กรุงเทพมหานคร: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ๊งกรุ๊ป.
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ. 2537. แนวทางการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นโดยภูมิปัญญาชาวบ้านในโรงเรียนสังกัด สปช. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์คุรุสภา.
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. 2534. ภูมิปัญญาชาวบ้านกับการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมและการพัฒนาชนบท.กรุงเทพมหานคร: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ป.
เสรี พงศ์พิศ. 2536. ภูมิปัญญาชาวบ้านกับการพัฒนาชนบท. กรุงเทพมหานคร:
อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ป แอนด์ พับลิชชิ่ง.
อังกูล สมคเนย์. 2535. สภาพและปัญหาการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้พัฒนาหลักสูตรโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดอุบลราชธานี.
กรุงเทพมหานคร: วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เอกวิทย์ ณ ถลาง. 2540. ภูมิปัญญาสี่ภาควิถีชีวิตและกระบวนการเรียนรู้ของชาวบ้านไทย. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.